ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับที่ปรึกษา

ความหมายของที่ปรึกษา

ที่ปรึกษาคือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบอาชีพ ประกอบกิจการ หรือให้บริการคำปรึกษาหรือแนะนำทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม การศึกษาวิจัย เป็นต้น

ลักษณะของงานที่ปรึกษา

งานที่ปรึกษา คือ งานบริการทางวิชาการ ซึ่งไม่ใช่งานที่มีลักษณะเป็นงานประจํา ได้แก่ งานประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1) การออกแบบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม

2) การควบคุมและจัดการการก่อสร้าง

3) การศึกษาวิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อจัดทํานโยบาย แนวทางการแก้ไขปัญหา แผนการดําเนินงานในระดับต่าง ๆ สร้างความเข้าใจในปัญหา เช่น การจัดทําแผนปรับโครงสร้างขององค์กร การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การจัดทําแผนหลักการพัฒนา เศรษฐกิจสังคมของพื้นที่เฉพาะ การจัดทําแผนหลักการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ การจัดทําระบบการดําเนินธุรกิจ และระบบการจัดการด้านการเงินขององค์กร เป็นต้น

4) การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เพื่อจัดทําแผนการลงทุนดําเนินโครงการ

5) การตรวจสอบวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทางวิศวกรรม เช่น ปัญหาอาคารร้าว ปัญหาน้ำท่วม

6) การจัดการและบริหารโครงการ

7) การสํารวจรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ เช่น การจัดทําแผนที่ดินด้วยระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

8) การจัดทําแผนหลักและการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบข้อมูลเพื่อการจัดการ (Management Information System)

ความจําเป็นในการว่าจ้างที่ปรึกษา

1) หน่วยงานไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพที่ต้องการเพียงพอ หรือจําเป็นต้องใช้บุคคลที่มีความรู้หลายด้าน หรือเจ้าหน้าที่มีจํานวนไม่เพียงพอที่จะดําเนินงานได้เอง

2) หน่วยงานต้องการข้อคิดเห็นจากที่ปรึกษาซึ่งเป็นบุคคลภายนอก (Second Opinion) ซึ่งเสนอความเห็นได้อย่างอิสระและปราศจากอคติ เพื่อพิจารณาประกอบกับข้อคิดเห็นของบุคคลภายใน สําหรับเรื่องที่มีความสําคัญในระดับสูงหรือเพื่อให้การวิเคราะห์ปัญหามีแนวคิดที่ต่างจากแนวคิดในกรอบราชการ

3) หน่วยงานไม่ต้องการเพิ่มกําลังคน ทั้งนี้เนื่องจากงานนั้นมีเป็นครั้งคราว หรือหน่วยงานไม่สามารถเพิ่มกําลังคนได้เนื่องจากข้อจํากัดในด้านอัตรากําลัง

อย่างไรก็ตาม การว่าจ้างที่ปรึกษาจะต้องคํานึงถึงการใช้บุคลากรของหน่วยงานที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ และจะต้องคํานึงถึงการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรของหน่วยงานด้วย ทางหนึ่งที่อาจทําได้ คือ การว่าจ้าง ที่ปรึกษาให้ทํางานร่วมกับบุคลากรของหน่วยงาน ในกรณีนี้ หน่วยงานจะมีบุคลากรพร้อมในหลายด้าน แต่อาจขาดผู้ที่มีประสบการณ์มากพอที่จะเป็นหัวหน้าคณะทํางาน หรือขาดผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

การเลือกจ้างที่ปรึกษาอิสระหรือที่ปรึกษานิติบุคคล

การว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระ มีข้อดีตรงที่การว่าจ้างทําได้เร็วกว่าการว่าจ้างที่ปรึกษานิติบุคคลและอัตราค่าตอบแทนต่ำกว่า โดยทั่วไป สําหรับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถระดับเดียวกัน อัตราค่าตอบแทน (Remuneration) ของที่ปรึกษาอิสระที่ไม่สังกัดองค์กรใดจะต่ำกว่าอัตราค่าตอบแทนของที่ปรึกษาที่เป็นนิติบุคคลมาก (อัตราค่าตอบแทน ได้แก่ เงินเดือน บวกค่าใช้จ่ายหรือค่าโสหุ้ย และกําไร) ทั้งนี้เพราะที่ปรึกษาอิสระมีค่าโสหุ้ย (Overhead Costs) ต่ำกว่าที่ปรึกษานิติบุคคลมาก เมื่อเทียบกับที่ปรึกษานิติบุคคล

ถึงแม้การว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่มีข้อจํากัดตรงที่ไม่สามารถจะใช้สําหรับภารกิจที่ต้องการที่ปรึกษาหลายคนทํางานร่วมกันเป็นทีม ดังนั้น โดยทั่วไป การว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระจะมีความเหมาะสมในกรณีที่ภารกิจที่จะให้ที่ปรึกษาดําเนินงานต้องการที่ปรึกษาเพียงคนเดียว ลักษณะของงานประเภทนี้ ได้แก่ การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ทําหน้าที่ให้คําปรึกษาแนะนํา (Advisor) แก่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหรือให้ทําการศึกษาวิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน หรือที่ปรึกษาอื่นที่หน่วยงานได้ว่าจ้างมา การว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระหลายๆ คนให้มาทํางานร่วมกันจะยุ่งยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากเพิ่มภาระในการคัดเลือกที่ปรึกษาและบริหารสัญญาและเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการดําเนินภารกิจได้หากกลุ่มที่ปรึกษาอิสระ มีปัญหาในด้านการประสานงาน

ความจําเป็นในการว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ

ถึงแม้นโยบายของรัฐบาลต้องการให้ใช้ที่ปรึกษาไทยแต่การว่าจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศอาจมีความจําเป็นในบางกรณีได้แก่

1) โครงการที่ใช้เงินกู้จําเป็นต้องเปิดให้มีการแข่งขันโดยเสรี เว้นแต่กรณีที่ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องใช้ที่ปรึกษาไทยเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาไทยมีสิทธิเข้าแข่งขันเช่นกัน

2) งานที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงหรืองานที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งที่ปรึกษาไทยยังมีความชํานาญและประสบการณ์ไม่เพียงพอ เช่น การออกแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ งานออกแบบ เขื่อนขนาดใหญ่ งานออกแบบอุโมงค์รถไฟใต้ดิน งานสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่มีความยาวมาก สะพานแขวน เป็นต้น

3) งานด้าน Institutional Planning หรือ Management Planning ซึ่งเป็นงานของโครงการต่าง ๆ ภายใต้การปฏิรูปภาครัฐบาล งานประเภทนี้ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ นิวซีแลนด์

บริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเรียกค่าตอบแทนในอัตราที่สูงมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนไทยและชาวต่างประเทศ ดังนั้น การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศจึงต้องพิจารณาความเหมาะสมและความคุ้มค่าอย่างรอบคอบ

กรุณากรอกชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน

ซ่อน

ลืมรหัสผ่าน?

การขึ้นทะเบียนที่ปรึกษา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ที่ปรึกษาอิสระ และที่ปรึกษานิติบุคคล (ประกอบด้วย ที่ปรึกษาห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท สถาบันการศึกษา มูลนิธิ สมาคม และองค์กรของรัฐ)

“โปรดเลือกประเภทที่ปรึกษาตามนิติบุคคลของท่าน
มิใช่เลือกประเภทหน่วยงานที่ท่านประสงค์จะไปเป็นคู่สัญญาแต่อย่างใด

หมายเหตุ: เมื่อเลือกที่ปรึกษานิติบุคคลประเภทใดแล้ว หากเลือกไม่ถูกต้อง ท่านต้องกรอกข้อมูล และอัพโหลดเอกสารใหม่ทั้งหมด
กรุณาเลือกประเภทที่ปรึกษา
ต้องการรหัสผ่านใหม่ กรุณาคลิกปุ่มเงื่อนไข
การขอรหัสผ่าน กรอกรายละเอียดและคลิกที่ปุ่ม ลืมรหัสผ่าน
หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

ผิดพลาด

ปิด